วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2566

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของยูเครน พลเอก. Valery Zaluzhnyi

 



ยูเครน เป็นประเทศหนึ่งในยุโรปตะวันออกเป็นประเทศที่มีเนื้อที่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในยุโรปรองจากรัสเซีย ซึ่งยูเครนมีอาณาเขตติดต่อทางทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ยังมีอาณาเขตติดต่อกับเบลารุสทางทิศเหนือ ติดต่อกับโปแลนด์ สโลวาเกีย และฮังการีทางทิศตะวันตก ติดต่อกับโรมาเนียและมอลโดวาทางทิศใต้ และมีแนวชายฝั่งจรดทะเลอะซอฟและทะเลดำ ยูเครนมีเนื้อที่ 603,628 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 41.3 ล้านคน และเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 8 ในยุโรป เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศคือกรุงเคียฟ ในทางประวัติศาสตร์เป็นที่ยอมรับกันว่า
กรุงเคียฟคือต้นกำเนิดของจักรวรรดิรัสเซียโดยรวม ยูเครนได้รับเอกราชหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน พ.ศ.2534



การที่บทความนี้กล่าวถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดผู้มีอำนาจเต็มนั้น เนื่องจากสำหรับประเทศไทยนั้น
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในทางกฎหมายถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีอำนาจคุมกำลัง และงบประมาณเท่ากับผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ พูดง่ายๆ คือผู้บัญชาการทหารสูงสุดไม่ได้มีอำนาจเท่าผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ นั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากประเทศยูเครน

ไหนๆ ก็ชี้แจงถึงการจัดตำแหน่งทหารกันแล้วก็เลยจะต้องอธิบายถึงโครงสร้างกำลังพลของทหารด้วย ที่มีต้นแบบการจัดหน่วยทหารราบแบบคลาสสิกของอเมริกาเพื่อไม่ให้เกิดการสับสนเวลากล่าวถึงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการรบสำหรับบทความนี้ต่อไป ดังนี้ คือ

1.หมู่ (squad) เป็นหน่วยเล็กที่สุด คนระหว่าง 9-12 นาย มีผู้บังคับบัญชาคือ ผู้บังคับหมู่ หรือผู้หมู่ เป็นนายทหารประทวนยศสิบเอก

2.หมวด (platoon) เป็นหน่วยระดับสูงขึ้นมา มี 3-4 หมู่ ผู้บังคับบัญชาคือ ผู้บังคับหมวด นายทหารสัญญาบัตร หรือยศร้อยตรี หรือร้อยโท

3.กองร้อย (company) มี 3-4 หมวด มีผู้บังคับบัญชาคือ ผู้บังคับกองร้อย ยศร้อยเอก

4.กองพัน (battalion) มี 3-4 กองร้อย มีผู้บังคับบัญชาคือ ผู้บังคับกองพัน หรือผู้พันยศพันโท

5.กรม (regiment) มี 3-4 กองพัน มีผู้บังคับบัญชาคือ ผู้บังคับการกรม หรือผู้การยศพันเอก

6.กองพลน้อย (brigade) เป็นหน่วยทหารขนาดใหญ่กว่ากรมแต่เล็กกว่ากองพล อาจมีหลายกองพัน หรือมีกรม 1-2 กรมในบังคับบัญชา ผู้บัญชาการกองพลน้อยยศพลจัตวา

7.กองพล (division) เป็นหน่วยทหารที่มีกำลังตั้งแต่ 10,000 ถึง 20,000 นาย กองพลมักเป็นหน่วยผสมเหล่าเล็กที่สุดซึ่งสามารถปฏิบัติการได้อย่างอิสระ ผู้บัญชาการกองพลยศพลตรี

8.กองทัพเป็นหน่วยทหารที่หน่วยสูงจากกองพลของเราเป็นระดับกองทัพ มีหลายกองพลในสังกัด ผู้บังคับหน่วยของกองทัพก็เรียกแม่ทัพ แม่ทัพยศพลโท

สาเหตุที่ต้องเกริ่นปูพื้นฐานมาเสียยืดยาวเนื่องจากในปัจจุบันนี้ในทวีปยุโรปไม่มีใครที่มีประสบการณ์ในการจัดการกองทัพในสถานะสงครามเทียบเท่าพลเอกวาเลรี ซาลุจนี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของประเทศยูเครนอีกแล้ว เพราะว่าพลเอก วาเลรี ซาลุจนี ผู้มีอายุ 49 ปี ได้อยู่ในสมรภูมิทำการรบต่อต้านการรุกรานของรัสเซียทางภาคตะวันออกของยูเครนมาตั้งแต่ พ.ศ.2557 จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมานี้ พลเอก วาเลรี ซาลุจนี ได้ฝึกฝนความเป็นทหารอาชีพตามแบบขององค์การนาโต ซึ่งแตกต่างจากการทหารของอดีตสหภาพโซเวียตที่เขาร่ำเรียนมาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ที่เมืองโอเดสสา และฝึกฝนมาทุกระดับตั้งแต่ผู้บังคับหมวด ผู้บังคับกองร้อย ผู้บังคับกองพัน จนกระทั่งเขาก้าวขึ้นเป็นพันเอกตามหลักนิยมทางการทหารของสหภาพโซเวียตเดิมตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง

พันเอก วาเลรี ซาลุจนี ทำการรบอยู่แนวหน้าทางด้านตะวันออกของยูเครนตั้งแต่ พ.ศ.2557 ที่รัสเซียบุกโจมตียูเครนเพื่อผนวกไครเมียเข้ากับรัสเซีย และช่วยดินแดนทางด้านพรมแดนตะวันออกของยูเครนแยกตัวออกไปเป็นอิสระ ปรากฏว่าทหารยูเครนสู้ทหารรัสเซียไม่ได้เลย แบบว่าแพ้ทุกสมรภูมิ ทำให้ทางการยูเครนได้ขอความช่วยเหลือจากองค์การนาโต และพันเอกวาเลรี ซาลุจนี ก็เข้าไปคลุกคลีศึกษาวิชาการทหารตามแบบของนาโต และนำหลักนิยมทางการทหารมาใช้แทนที่หลักนิยมของสหภาพโซเวียตเดิม พร้อมกับวาเลรี
ซาลุจนี ก็ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นพลตรีใน พ.ศ.2560 พลโทใน พ.ศ.2564 และพลเอก รวมทั้งตำแหน่ง
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของประเทศยูเครนในเดือนมีนาคม พ.ศ.2565 สดๆ ร้อนๆ นี้เอง

หลักนิยมของกองทัพสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีดังนี้คือ กองทัพสหภาพโซเวียตมีระบบสั่งการแบบสั่งจากบนลงล่าง ที่รวมศูนย์มาก ซึ่งทำให้การปฏิบัติการล่าช้ามาก ทำให้ผู้บัญชาการรบ บรรดานายทหารชั้นนายพลทั้งหลายต้องตั้งกองบัญชาการใกล้สนามรบเพื่อสั่งการอย่างใกล้ชิด เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ทหารแนวหน้า เพราะทหารระดับนายเข้ามาร่วมเสี่ยงอันตรายด้วย ซึ่งแตกต่างกับหลักนิยมทางการทหารขององค์การนาโตที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำที่กองบัญชาการอยู่ในที่ปลอดภัยห่างจากสมรภูมิ แต่มีการกระจายอำนาจในการสั่งการกับนายทหารสัญญาบัตรยศร้อยตรีขึ้นไป หรือแม้กระทั่งนายทหารประทวน ยศจ่าก็มีอำนาจตัดสินใจแทนนายทหารสัญญาบัตรได้ในกรณีจำเป็นฉุกเฉินในการรบ จะเห็นได้จากวีรกรรมที่ทหารยศเล็กๆ ของกองทัพอเมริกันหาทางแก้ปัญหาในสมรภูมิได้เองจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงสงครามยุคใหม่

หลักนิยมทางการรบที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งคือ การส่งกำลังบำรุงซึ่งการทหารแบบอเมริกันเน้นก็คือเรื่องระบบการขนส่งกำลังบำรุง ที่จะต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทหารได้รับอาวุธ กระสุน เสบียง กำลังหนุน รวมทั้งการส่งตัวกลับไปรักษาหลังบาดเจ็บในสนามรบอย่างทันท่วงที สมกับคำกล่าวที่ว่า "กองทัพต้องเดินด้วยท้อง"

ครับ ! จากการเปลี่ยนแปลงหลักนิยมทางการทหารอย่างถอนรากถอนโคนของยูเครนนี้เองที่ทำให้นายทหารระดับแม่ทัพและนายพลของรัสเซียต้องเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก และทำให้ยูเครนสามารถยันกองทัพรัสเซียเอาไว้อยู่ มิหนำซ้ำยังสามารถตีโต้ยึดดินแดนกลับคืนได้อย่างน่าชื่นชมอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น